เรด ซ็อกซ์ และ ลิเวอร์พูล ความสำเร็จที่ไม่ได้ต่อยอด

กีฬา

คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

บรรยากาศการแข่งขัน อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) เข้าใกล้จุดไคลแม็กซ์ขึ้นเรื่อยๆ และฝั่งบาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) กำลังจะเข้าสู่อีเวนท์ “ออลล์-สตาร์ 2022” ที่เมืองคลีฟแลนด์ แต่สัปดาห์นี้อยากจะขอพาท่านผู้อ่านออกนอกประเด็นสัก 1 สัปดาห์ เนื่องจากไม่อยากตีกรอบล้อมความคิดตัวเอง รับรองว่ายังคงแฝงด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับวงการกีฬาของ สหรัฐอเมริกา เหมือนเดิม

ผมเป็นคนหนึ่งที่เล่น โซเชียล มีเดีย เหมือนทุกๆ ท่าน เข้ากลุ่มแฟนบอล ลิเวอร์พูล ราว 4-5 กลุ่ม ใครที่เป็นสาวก “เดอะ ค็อป” แบบผม อาจเห็นภาพล้อเลียน จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี เจ้าของทีม เกี่ยวกับความขี้เหนียว ไม่ยอมอนุมัติงบประมาณให้ เจอร์เกน คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมัน เสริมทัพ ตามใจกองเชียร์ที่ทนดู แมนเชสเตอร์ ซิตี จ่าฝูง โกยแต้มทิ้งห่างเกินกว่า 10 แต้ม หลังฟาดแข้งกันครึ่งซีซันกว่าๆ

ช่วงนี้เป็นเวลาที่แฟนๆ “เดอะ เรดส์” กังวลเป็นอย่างมากว่า ช่องว่างจะถูกขยายไปเรื่อยๆ เพราะสูญเสีย 2 กำลังสำคัญแดนหน้า โมฮาเหม็ด ซาลาห์ กับ ซาดิโอ มาเน พอมองดูตัวเลือกที่เหลืออยู่อย่าง ทาคุมิ มินามิโนะ, โรแบร์โต ฟิร์มิโน, ดิโอโก โชตา, ดิว็อค โอริกี หรือ อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน ที่สามารถยืนริมเส้นได้ ย่อมรู้สึกว่า มันจะทดแทนกันได้จริงหรือ? ก่อนวกกลับมาย่านเมอร์ซีย์ไซด์ เรามามองรูปแบบของกีฬา ที่สหรัฐฯ สักครู่

สำหรับแวดวง “อเมริกัน เกมส์” การคว้าแชมป์คือเป้าหมายสูงสุด บางทีมต้องใช้เวลายาวนานหลายทศวรรษกว่าจะถึงฝั่งฝัน ยกตัวอย่าง ชิคาโก บูลล์ส เป็นแฟรนไชส์ของ NBA ที่ก่อตั้งขึ้นปี 1966 ต้องใช้เวลา 25 ปี จึงจะสัมผัสแชมป์สมัยแรก ปี 1991 หลังค้นพบ ไมเคิล จอร์แดน หนุ่มจากมหาวิทยาลัย นอร์ธ แครอไลนา กระทั่งครองความยิ่งใหญ่ยุต 90 หากเอาใจแฟนๆ บาสเกตบอลรุ่นใหม่ โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส พวกเขารอคอยแชมป์สมัยที่ 4 มานาน 40 ปี กว่า สตีเฟน เคอร์รี และผองเพื่อน จะทำได้ในปี 2015

บทพิสูจน์ว่า ทีมๆ นั้นจะเป็นที่ยอมรับของแฟนๆ กีฬาชาวอเมริกัน คือ การสร้าง “Dynasty (ไดนาสตี)” ซึ่งมีความหมายในวงการกีฬาว่า ทีมหรือบุคคลที่ผูกขาดแชมป์ เช่น ทอม เบรดี กับ บิลล์ เบลิชิก ได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดคู่ควอเตอร์แบ็ก-เฮดโค้ช ด้วยผลงานของ นิว อิงแลนด์ แพทริออตส์ กวาดแชมป์ ซูเปอร์โบว์ล 6 สมัย จากการเข้าชิง 9 ครั้ง หรือ วอร์ริเออร์ส ไม่ยอมหยุดแค่แชมป์ 4 สมัย เซ็นสัญญา เควิน ดูแรนท์ ฟอร์เวิร์ดซูเปอร์สตาร์ แบบฟรีเอเจนต์ เพื่อแชมป์อีก 2 สมัย ปี 2017 กับ 2018 รวมแล้วพวกเขาเป็นแชมป์ 3 สมัย จากการเข้ารอบชิงชนะเลิศ 5 ปีติดต่อกัน

ที่สหรัฐอเมริกา เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (Fenway Sports Group) คือ กลุ่มทุนที่สร้างปาฏิหาริย์ของ เมเจอร์ ลีก เบสบอล (MLB) เทกโอเวอร์ บอสตัน เรด ซ็อกซ์ เมื่อปี 2002 แล้วใช้เวลาเพียง 2 ปี พาแฟรนไชส์กลับมาคว้าแชมป์ เวิลด์ ซีรีส์ สมัยแรกนับตั้งแต่ปี 1918 และความสำเร็จดังกล่าวตามมาอีก 3 สมัย ปี 2007, 2013 และ 2018 รวม 4 สมัย ตลอดระยะเวลา 20 ปีของ เฮนรี กับ ทอม เวอร์เนอร์

ตอน เรด ซ็อกซ์ คว้าแชมป์เวิลด์ ซีรีส์ สมัย 3 ยุค FSG เมื่อปี 2013 พวกเขาชนะ 97 จาก 162 เกม ครองอันดับ 1 ของดิวิชัน อเมริกัน ลีก ตะวันออก ซึ่งเป็นฤดูกาลที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากแฟรนไชส์เต็มไปด้วยผู้เล่นที่กินค่าเหนื่อยระดับปานกลาง โดยตั้งเป้าหมายเพียงแข่งให้จบซีซัน กาลเวลาผ่านไป 12 เดือน ด้วยความเชื่อมั่นต่อผู้เล่นชุดเดิม พวกเขาแพ้มากกว่าซีซันก่อน 26 เกม แถมไม่ได้เข้าเพลย์ออฟ และจบบ๊วยของดิวิชัน ปี 2015 ก่อนจะกลับมาเป็นแชมป์ครั้งล่าสุด ปี 2018

กลับมายังเกาะอังกฤษ นับตั้งแต่ ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2019-20 แฟนบอลอย่างผมและคนอื่นๆ ย่อมอยากเห็นการต่อยอดความสำเร็จ เช่น การเล่นบอลโยนจากริมเส้นของฟูลแบ็ก ควรหากองหน้าตัวเป้าแท้ๆ สักคนจะดีไหม หรือเซ็นเตอร์แบ็กเก่งๆ คอยสลับสับเปลี่ยนกับ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ก แต่ 2-3 ตลาดซื้อ-ขายที่ผ่านมา รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีข่าวคราวจากรั้วแอนฟิลด์กระทั่งพ้นเส้นตาย นี่ถ้า ฟาน ไดจ์ก ไม่เจ็บเอ็นเข่าจนปิดเทอม ตลาดฤดูหนาว 2021 คงไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร

สาเหตุที่ไม่มีนักเตะใหม่ ส่วนหนึ่งอาจมาจากสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งทำให้หลายสโมสรขาดรายได้จากการจำหน่ายตั๋ว และต้องควักเนื้อจ่ายค่าจ้างพนักงานและสตาฟฟ์ อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากบทสัมภาษณ์ของ คล็อปป์ ว่า พอใจขุมกำลังทีมีอยู่ แต่เบื้องหลังเราไม่รู้ว่า เขาจำเป็นต้องพอใจ หรือพอใจจริงๆ กันแน่ เนื่องจากสโมสรไม่ได้จับงบให้ แต่ความจริงอีกด้านหนึ่ง FSG เป็นองค์กรที่ลงทุนด้านกีฬา ซึ่งเน้นแสวงหากำไร คงไม่สามารถใช้จ่ายราวกับพิมพ์ธนบัตรได้เอง เหมือนท่านชีก, เจ้าชาย หรือ เจ้าสัวจากยุโรป

ตามโครงสร้างด้านการบริหารจัดการ รวมถึงเพดานค่าจ้างสโมสร ผมเชื่อเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า ลิเวอร์พูล ไม่มีทางจ่ายค่าจ้างแก่ ซาลาห์ สูงถึง 400,000 ปอนด์/สัปดาห์ เพราะหากยอมจ่าย สักวันหนึ่ง ฟาน ไดจ์ก อาจมาเคาะประตูห้อง เฮียเฮนรี แล้วบอกว่า ผมขอ 300,000 หรือ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันทีม มาบอกอีกคนหนึ่งว่า ผมขอ350,000 และคนอื่นๆ ที่เป็นตัวหลักต่อคิวขอขึ้นค่าแรงอีกมากมาย แล้วจะควบคุมได้อย่างไร

ดังนั้นหากสถานการณ์คาราคาซัง ซาลาห์, มาเน และ ฟิร์มิโน ยังไม่ต่อสัญญาเดิม ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 1 ปีกว่า สาวก “เดอะ ค็อป” อาจได้เห็น 3 ประสานแนวรุกเดินทางใครทางมัน หลังจบฤดูกาลนี้ ทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่า ติดแค่ท็อป 4 ก็สุดยอดแล้ว