Guestpost โฟสฟรี ถ้าคุณมีสาระดีๆ ที่นี่เราให้คุณได้แบ่งปัน

Notifications
Clear all

แนะนำ "คลับเฮาส์ - Clubhouse" แอปมาแรง! เผยรายละเอียดยิบ เรื่องการใช้งาน

1 Posts
1 Users
0 Likes
353 Views
supachai
(@supachai)
Posts: 2481
Illustrious Member
Topic starter
 

แนะนำแอปคลับเฮาส์ - Clubhouse

นาทีนี้ไม่มีอะไรร้อนแรงฮิตไปกว่า แอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า คลับเฮาส์ (Clubhouse) ซึ่งเป็นแอปที่ได้ยินแค่ เสียงบทสนทนา เท่านั้น ไม่มีภาพ ไม่มีคลิปวิดีโอ ไม่มีการมาดูย้อนหลัง หากคุณต้องการฟังบทสนทนาในประเด็นใด คุณจะต้องรอเวลาถ่ายทอดสดเสียงเท่านั้น

โทรศัพท์มือถือแบบไหนที่ใช้เล่นแอปนี้

จะต้องใช้โทรศัพท์มือถือ “ระบบปฏิบัติการไอโอเอส iOS” นั่นก็คือโทรศัพท์ไอโฟนเท่านั้น

และหากคุณใช้โทรศัพท์มือถือใน “ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์” แล้วก็หมดสิทธิเข้าใช้แอพนี้เด็ดขาด แต่นั่นไม่ใช่เพราะถูกกีดกัน แต่ทางทีมงานอยู่ระหว่างดำเนินการหลังจากมีรายได้มหาศาลเพียงพอในการสร้างปรับปรุงให้คลับเฮาส์สามารถดาวน์โหลดได้สำหรับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ เชื่อว่าคงใช้เวลาอีกไม่นานเกินรอ

เข้าไปร่วมฟังในห้องได้อย่างไร

คุณยังไม่สามารถเข้าไปใช้ได้เลย แม้จะมีบัญชีใช้งานก็ต้องได้รับเชิญ (Invite) จากคนที่เป็นสมาชิก Clubhouse อยู่แล้ว ซึ่งจะเชิญคุณเข้าไปรับฟังในกลุ่มได้ และการเชิญนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ตลอดไป เนื่องจากมีการกำหนดว่าสมาชิก 1 คน เชิญได้กี่ครั้ง ครั้งแรก 2 คน ต่อมาก็ขยายเป็น 4 คน แล้วขยับเป็น 7 คน เป็นต้น

แอปนี้เริ่มฮิตตอนไหน

แอปนี้มีขึ้นครั้งแรกประมาณเดือน มี.ค. 63

สำหรับในประเทศไทยค่อนข้างบูมอย่างมากมาตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.64 ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังมีศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี มีทั้งเหล่านักวิชาการ นักการเมือง ต่างเข้ามาเปิดห้องสนทนาในคลับเฮาส์กับคนฟังอย่างคึกคัก และหลังศึกซักฟอกก็ฮือฮาระดับปรอทแตก เมื่อมีบรรดาคนดังถูกเชิญเข้ามาพูดในคลับเฮาส์ โดยเฉพาะ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, ไม่เว้นแม้กระทั่งนักวิชาการชื่อดังที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน ฯลฯ มีคนติดตามเข้าไปฟังกันล้นหลาม ชนิดคาดไม่ถึง

เล่นง่ายคล้ายจัดเสวนาผ่านวิทยุ

ดังที่เกริ่นไปแล้วว่า การจะเข้าไปในแอพตัวนี้นั้นไม่ง่าย ต้องได้รับการเชิญ

สำหรับวิธีการเล่นคลับเฮาส์นั้นไม่ยาก ตัวแอพจะเริ่มถามความสมัครใจหัวข้อประเด็นที่คุณสนใจก่อน จากนั้นก็จะเข้าสู่ห้องสนทนาที่มีหลากหลายมากมาย คุณสามารถกดติดตามใครก็ได้ในโลกใบนี้ แล้วเมื่อคนเหล่านี้เปิดห้องสนทนาก็จะมีข้อความแจ้งเตือนไปยังคุณ

อยากเปิดห้องคุยส่วนตัวต้องทำอย่างไร

การจะเปิดห้องสนทนานั้น สามารถเลือกได้ว่าจะเปิดให้คนไม่กี่คนเข้าคุย หรือจะเปิดเป็นวงกว้างให้ใครเข้ามาร่วมวงได้ แต่ยังจำกัดไม่เกิน 5,000 คนเท่านั้น ในห้องที่บทสนทนาได้รับความนิยม เคยมีคนกดเข้าไปฟังพร้อม ๆ กัน ทำให้ยอดคนฟังทะลุไปถึงระดับ 8,000 คนเลยทีเดียว

โดยการฟังบทสนทนานั้น เหมือนได้กลับไปสู่การฟังสื่อวิทยุ โดยในห้องนั้นจะมี โมเดอเรเตอร์ (ผู้นำประเด็นสนทนา ซึ่งจะมีกี่คนก็ได้) เรื่องสนทนาก็จะเป็นไปตามที่ชื่อห้องกำหนด เมื่อเข้าไปฟังหรืออยากจะออกจากห้องก็ทำได้ตลอดเวลา ถ้าหัวข้อหรือชื่อห้องโดนใจก็จะมีผู้เข้าไปเล่นเยอะ

แต่ที่สนุกก็คือ ถ้าหากผู้ฟังอยากจะมีส่วนร่วมขอพูด เพียงกดปุ่ม ยกมือถาม เมื่อทางโมเดอเรเตอร์เห็น ก็มีสิทธิจะดึงคุณเข้าสู่วงสนทนาได้ โดยระหว่างที่คุณฟังคนอื่นพูดก็อาจกดปิดไมโครโฟนจากมือถือ เพื่อจะได้ฟังอย่างเงียบ หรือจะเปิดไมค์เพื่อสนทนาตอบโต้ได้ด้วย

อย่างไรก็ดีหากการพูดของคุณไม่เป็นที่ถูกใจแก่โมเดอเรเตอร์ มีสิทธิปลดหรือเตะออกจากห้องได้ทันที

หรือใช้ถ้อยคำหยาบในห้องสนทนา มีสิทธิโดนแบนได้ถ้ามีการร้องเรียนโดยคนในห้อง

อัดเสียงไว้ฟังวันหลังได้ไหม

ไม่ได้เด็ดขาด หากพยายามจะอัดเสียงบันทึกการสนทนานั้น แอพจะแจ้งเตือนแก่โมเดอเรเตอร์ทันที และคุณมีสิทธิถูกแบนห้ามใช้บัญชีได้

ในไทยถึงขั้นเปิดห้องถ่ายทอดเสียง

ในไทยนั้น มีความพิเศษอีกอย่างคือในช่วงที่บทจาก ห้องสนทนาหลัก ที่มีคนเข้าฟังจนเต็ม มีคนหัวใสไอเดียบรรเจิดเปิดห้องสนทนาอีกห้องเพื่อ ถ่ายทอดเสียง จากห้องสนทนาหลักให้คนอื่น ๆ ได้ฟังกัน ว่ากันว่าในช่วงที่ดร.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาใช้งานคลับเฮาส์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการเปิดขยายห้องถ่ายทอดเสียงจากห้องหลักไปอีก 5-6 ห้อง มีคนฟัง 4-5 หมื่นคน แถมผู้ที่ฟังจากห้องถ่ายทอดเสียงเหล่านี้ยังฝากคำถามไปถามยังห้องหลักอีกด้วย ซึ่งก็มีดาวเด่นแจ้งเกิดจากการใช้แอพนี้เข้าไปเปิดห้อง ถามคำถาม ส่งประเด็น จนกลายเป็นคนดังในคลับเฮาส์ขึ้นมา

วิธีการเล่นง่าย ๆ นี้เองที่ทำให้มีคนทั่วโลกกว่า 5.5 ล้านคนแล้วที่โหลดแอพนี้มาใช้ โดย 16% ของการดาวน์โหลดนั้นเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีศิลปิน นักร้อง ดารา แม้แต่นักการเมืองต่างโหลดมาใช้งานอย่างมาก สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าในประเทศ ไทยนั้นคลับเฮาส์ถือเป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกใช้ในการถกเถียงประเด็นการเมืองในเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมาก แม้มีคำเตือนจากภาครัฐและเริ่มมีการปฏิบัติการสู้ด้วยข่าวสาร (Information Operation หรือ IO) บ้างแล้ว

ความสำเร็จของมัน มีนักวิเคราะห์มองว่า แม้จะถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 63 (ประมาณเดือน มี.ค. 63) ในช่วงดังกล่าวกำลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้คนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ การที่พวกเขาได้ร่วมวงถกสนทนาจำนวนมาก โดยไม่มีภาพหรือวิดีโอ มันช่วยทำให้ผู้คนรู้สึกโหยหาชีวิตปกติก่อนการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งยังเปิดให้มีการจินตนาการระหว่างการพูดคุยด้วย นั่นทำให้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยความนิยมนี้พุ่งสูงมากขึ้น เมื่ออภิมหาเศรษฐีสุดอัจฉริยะ อย่าง อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสล่าได้เข้าไปพูดคุยเรื่อง ระบบการเงินดิจิทัล จึงทำให้คลับเฮาส์ เป็นที่รู้จัก ยิ่ง มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก เข้าไปใช้บริการก็ยิ่งดึงดูดให้คนจำนวนมากเข้าไปใช้แอพ

ข้อเสียของแอป Clubhouse

ในสหรัฐอเมริกานั้น คลับเฮาส์เองถูกวิจารณ์อย่างมากว่าปล่อยปละละเลยให้มีห้องสนทนาที่ปล่อยข่าวปลอม โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการสนทนาว่าไม่ควรฉีด เพราะเป็นอันตราย เรื่องนี้ทำให้แอพดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างมาก ว่าไม่ได้จัดการปัญหานี้อย่างจริงจังเหมือนกับสื่อสังคมออนไลน์ตัวอื่น

ยังไม่นับว่าในประเทศจีนนั้นได้มีการแบนห้ามใช้ เพราะมีคนใช้แอพนี้สนทนาในประเด็นปัญหาที่พูดไม่ได้ในสังคมจีน แต่ในฮ่องกงยังคงใช้ได้ทำให้เป็นที่นิยม

ทั้งนี้ยังมีการวิจารณ์คลับเฮาส์ ระบบการจัดเก็บเสียงสนทนานั้นง่ายต่อการถูกแฮกเกินไป ยังไม่นับว่าการจำกัดการเชิญนั้น ส่งผลทำให้มีการนำสิทธิการเชิญไปประมูลขายในเว็บไซต์ มีตั้งแต่ราคา 30-2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ความสำเร็จของ Clubhouse ในประเทสไทย

ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ใช้งานจำนวนมาก บางกลุ่มถึงกับแอบเปิดห้องสนทนาไว้ระหว่างการทำงาน โดยไม่มีการพูดคุย มีแต่เสียงทำงานต่าง ๆ นานา หรือเริ่มมีบางห้องที่เปิดการสนทนายาวข้ามวันข้ามคืน และมีแนวโน้มอาจจะฮิตมากกว่าเดิม ถ้าทำให้สาวกแอนดรอยด์ สามารถดาวน์โหลดได้เมื่อไร กระแสในไทยก็จะเพิ่มระเบิดเถิดเทิง

ใครเป็นผู้สร้างแอป Clubhouse

คลับเฮาส์เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ พอล เดวิดสัน วัย 40 ปี และ โรแฮน เซ็ธ วัย 36 ปี ทั้งสองไม่ค่อยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมากนัก โดยทั้งคู่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

โดยตัวของ เดวิดสัน นั้นเคยสร้างแอพพลิเคชั่นไฮไลต์ที่เปิดโอกาสให้เราได้แชร์โลเกชั่นของตัวเองไปยังคนอื่น ๆ แล้วเลือกได้ว่าจะเปิดการสนทนากับคนที่อยู่ใกล้ ๆ เราไหม เขาเปิดแอพตัวนี้ในปี 2012 ก่อนที่จะปิดตัวลงไปในปี 2016

ขณะที่ เซ็ธ เป็นอดีตวิศวกรของกูเกิล ทั้งสองรู้จักกันตั้งแต่ปี 2011 ก่อนที่ในปี 2019 จะได้มานั่งลงพูดคุยกันจริงจัง แอพที่สร้างนั้นมันใกล้เคียงกับ พอดแคสต์ (ไฟล์เสียง) มากไป จนทั้งสองต้องผลักดันความคิดสร้างสรรค์จนเกิดเป็น คลับเฮาส์ ขึ้นมา เมื่อเดือน มี.ค. 63

ด้วยความที่สถานการณ์โควิด-19 ยกระดับรุนแรงอย่างมากในปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มนักธุรกิจและเหล่านักลงทุนในซิลิคอน วัลเลย์ของแคลิฟอร์เนีย ต้องการหาแอปที่ลงทุนเพื่อขยายฐานอันเป็นการช่วยขยับสังคมอเมริกันที่ซบเซาจากโรคระบาดมาพบแอพตัวนี้  จึงทำให้เกิดการลงทุนและเกิด การขยายฐานมวลชนจนกลายเป็นแอพพลิเคชั่นสุดดังข้ามโลก

ปัจจุบันคลับเฮาส์มีมูลค่าถึง 1 พันล้านยูเอสดอลลาร์แล้ว โดยเดือนก่อนพวกเขาระดมเงินทุนได้มากถึง 100 ล้านดอลลาร์ นับเป็นแอพพลิเคชั่นที่สร้างมูลค่าได้มหาศาลอย่างรวดเร็วยิ่งนัก.

https://www.dailynews.co.th/article/827710

 
Posted : 27/02/2021 8:43 am
Share: