Guestpost โฟสฟรี ถ้าคุณมีสาระดีๆ ที่นี่เราให้คุณได้แบ่งปัน

Notifications
Clear all

หนุ่มเงินเดือนครึ่งแสน ลาออก! ขายกล้าไม้ออนไลน์ ด้วยการ "ยิง ads" ฟันรายได้ 3 ล้านต่อเดือน

1 Posts
1 Users
0 Likes
235 Views
supachai
(@supachai)
Posts: 2481
Illustrious Member
Topic starter
 

564000009189410

“อย่าหยุดกับความสำเร็จเดิมๆ” เปิดใจ อดีตครีเอทีฟหนุ่มเงินเดือนครึ่งแสน หันหลังให้เมืองหลวง ขายสินค้าเกษตรออนไลน์ที่บ้านเกิด กระตุ้นการจ้างงานคนในพื้นที่ ออเดอร์ล้นรับทรัพย์ต่อเดือนหลายล้าน!!

บอกลาเงินเดือนครึ่งแสน จากครีเอทีฟ สู่เกษตรกร

“จริงๆ ผมจบเกี่ยวกับด้านนิเทศมา ทำงานประจำในสายโฆษณาประมาณ 4 ปีแล้ว ก็มีความรู้ด้านทำการตลาด พวกยิง ads ใน Facebook ประกอบกับพี่ชายเรียน ม.เกษตรฯ เขาก็ชอบต้นไม้ เพาะต้นไม้อยู่แล้ว ผมเห็นว่า ตัวนี้มันมีโอกาส มีศักยภาพ น่าจะต่อยอดได้ ก็เลยลองถ่ายรูปต้นไม้ลง Facebook แล้วลองยิง ads ดู ก็ได้ผลตอบรับที่ดีนะครับ

เดือนแรกผมทำยอดขายประมาณแสนกว่าบาท ระหว่างนั้นทำงานประจำด้วยแล้วก็ pack ของด้วย ประมาณ 2 เดือน ผมก็เลยรู้สึกว่ามันไปได้ เราออกมาทำเต็มตัวดีกว่า มันน่าจะไปได้”

“อรรถ-อรรถกร เอี่ยมเจริญ” หนุ่มราชบุรี วัย 29 ปี เจ้าของเพจ “มนทรีสวนป่า” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ “ขายสินค้าเกษตรออนไลน์” ไม่ว่าจะเป็น กล้าพันธุ์ไม้กว่า 50 ชนิด, มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว, ส้มโอขาวใหญ่อัมพวา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีกล่องพัสดุและหนังสือพิมพ์มือสอง

ทั้งหมดที่กล่าวมา สร้างรายได้ให้เขาเดือนละกว่า 3,000,000 บาท!!!

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อรรถ เล่าย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเมื่อเกือบ 4 ปีก่อน ที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้ประมาณ 50,000 บาท ได้ลองนำกล้าไม้จากพี่ชายมาขายเป็นรายได้เสริม ในระยะเวลายังไม่ถึง 2 เดือนดี กล้าไม้เหล่านี้ทำเงินให้เขาเป็นกอบเป็นกำ จึงทำให้ครีเอทีฟหนุ่มเกิดความคิดอยากจะมาลุยด้านนี้แบบเต็มตัว

“ผมเป็น creative วันนั้นต้องไปคุมงานดูงาน production ผมนั่งดูงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าไปจนถึงตีสาม งานก็ยังไม่เสร็จ ปาไปจนเจ็ดโมงเช้า เราก็เลยคิดว่าทุกวันนี้ เราทำอะไรอยู่ เราเสียเวลากับอะไรอยู่

พี่ชายผมเขาถนัดทำด้านนี้มาก่อนอยู่แล้ว จะรู้ว่าต้นนี้ต้องเพาะยังไง เราเห็นว่ามันมีตลาด ช่วงแรก (ลงทุน) เริ่มต้นที่ 5,000 บาท เราขายต้นไม้ที่เพาะเองก่อน พี่ชายเพาะไว้ข้างบ้าน จนมันขึ้นเต็ม ไปแจกจ่ายชาวบ้าน ไปถวายวัด ให้ อบต.เครือข่ายใกล้ๆ

ไม่พอก็ไปซื้อมาเพิ่ม จะเป็นพวกต้นพะยูง ไม้สัก ไม้มะค่า ต้นยางนา ไม้ยืนต้นใหญ่ๆ ที่คนรู้จักกัน แต่ตอนนั้นที่ทำยังทำงานประจำ เสาร์-อาทิตย์ ก็กลับมาบ้านที่ราชบุรี เพื่อมาแพ็กต้นไม้ วันจันทร์เราก็เอาของไปส่งที่กรุงเทพฯ เพื่อให้มันถึงเร็ว

ผมดูยอดขาย ลองขายดูแล้วพอเป็นไปได้ อาทิตย์นึงผมส่งประมาณ 20-30 กล่อง นี่คือ ทำเล่นๆ นะ แต่ถ้าเราออกมาทำเต็มตัวล่ะ มาลุยกับมันจริงจัง เลยปรึกษากับที่บ้าน ปรึกษาแม่ ปรึกษาเพื่อน ปรึกษาผู้ใหญ่ เขาก็ไม่อยากให้เราออก ก็เสียดาย ทำงานประจำอยู่สบายๆ อยู่ห้องแอร์ แต่พอมาลุยพวกต้นไม้ก็ตากแดด ตากลม”

แม้จะมีเสียงคัดค้านจากคนรอบข้าง แต่หลังจากลองชั่งตวงวัดถึงอนาคตดูแล้ว เขาเลือกที่จะเชื่อสัญชาตญาณของตนเอง

นี่จึงกลายมาเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ ที่ทำให้ตัดสินใจเบี่ยงเข็มเส้นทางชีวิต จากครีเอทีฟหนุ่มในเมืองหลวง สู่การเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิดอย่างเต็มตัว

“ช่วงแรกๆ ก็พออยู่ได้นะ แพ็กกับพี่ชายยันตี 2 ตี 3 อดหลับอดนอน หลังๆ ก็ต้องจ้างทีมงานมาช่วย เพราะทำเองไม่ทัน เราก็ลงพื้นที่ ไปรับจ๊อบปลูกต้นไม้ให้เขาบ้าง 5 ไร่ 10 ไร่ ลุยมาเยอะ มีเสียหายบ้าง เจ๊งบ้าง ทำธุรกิจเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเจอ ส่วนใหญ่จะโตได้เพราะปัญหา

ถ้าเราอยู่กรุงเทพฯ เราทำงานได้เงินเดือน 40,000-50,000 เรารอดคนเดียว แต่พอเรามาอยู่ต่างจังหวัด เรามาช่วย สร้างงาน สร้างอาชีพด้วย ปัจจุบันเราก็มีเครือข่ายทีมงาน เป็นชาวบ้าน ผมมีพนักงานกว่า 30 คน ทำที่บ้าน 20 กว่า แล้วก็มีน้อง admin หลังบ้าน รวมๆ 7-10 คน

เราออกมาทำต้นไม้ มันช่วยให้โลกเพิ่มพื้นที่สีเขียว และรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน ก็มีนโยบาย Green Policy พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ต้องแผ้วถางเพื่อปลูกป่าหรือทำอะไร ไม่ทิ้งไว้เป็นภาษีที่ดิน”

รายรับ 3 ล้าน แต่ค่าซื้อโฆษณาแค่หลักแสน!!!

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เมื่ออดีตครีเอทีฟรายนี้ ตัดสินในทิ้งเงินเดือนกว่าครึ่งแสนไว้เบื้องหลัง มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดในเส้นทางการเป็นเกษตรกรเต็มตัว ทำให้ทั้งวิถีชีวิตและรายได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะทุกวันนี้บรรดาสินค้าที่เขาขาย ทำรายได้เดือนละหลายล้าน!!

“ปัจจุบันเปิดเป็นบริษัทจำกัดประมาณ 3 ปีกว่า ขึ้นทะเบียนเกษตรแล้ว ยอดเงินที่เข้าบริษัทประมาณเดือนละ 2-3 ล้านครับ ช่วงประมาณพฤษภา-มิถุนา ช่วงเข้าหน้าฝนขายดี ถ้ารวมๆ แล้วน่าจะตก 3-4 ล้านต่อเดือน แต่ว่าค่าใช้จ่ายเราก็เยอะเป็นเงาตามตัว เรามีพนักงานกว่า 30 คน ที่ต้องดูแล ถามว่ากำไรเหลือมั้ย อาจจะเหมือนบริษัทที่เปิดใหม่ๆ สมมติสิ้นปี 20-30 ล้าน แต่กำไรอาจจะเหลือไม่ถึงล้านหรือน้อยกว่านั้น เราลงทุนตลอด เพราะเรากำลังเติบโต

ผมขายสินค้าเกษตรออนไลน์ ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเราจะต้องขายแค่ต้นไม้อย่างเดียว ผมมีมะพร้าวน้ำหอม มีส้มโอของอัมพวา มีต้นไม้กว่า 50 ชนิด ไม้หายากพวกต้นมะริด ต้นกันเกรา ประดู่แดง จิกทะเล จิกเศรษฐี แล้วก็ไม้มงคล ไม้จันทร์หอม ก็มี

ผมขายหนังสือพิมพ์ เป็นหนังสือพิมพ์มือสอง ใช้ทำความสะอาด เช็ดกระจก ไปปูพื้นรองน้องหมาน้องแมวจะฉี่ ปูพื้นพ่นสี หรือห่อผลไม้ พวกกล่องพัสดุก็ใช้แล้วหมดไป ถ้าสินค้าเราคุณภาพดี แข็งแรงทนทาน หนา ไม่ยุบ ราคาถูก เข้าถึงง่าย ก็เกิดการซื้อซ้ำกับ เราก็มีลูกค้าประจำ อะไรที่อยู่ใกล้ตัว ที่เราพอทำตลาดได้ก็จะจับ”

อรรถ อธิบายต่อว่า รายรับจำนวนมากต่อเดือนนี้ มีที่มาจากการ “ยิง ads” (Facebook Advertising หรือการซื้อโฆษณาใน Facebook) เพื่อให้กลุ่มลูกค้ามองเห็นสินค้าของเขาได้มากขึ้น เป็นการนำความรู้จากที่เคยทำงานด้านโฆษณามาใช้ และในแต่ละเดือนเขามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตกหลักแสน

“เนื่องจากที่บ้านพอมีพื้นที่อยู่บ้าง ก็เลยไม่ได้ลงทุนอะไรมาก แต่ที่หนักๆ น่าจะเป็นจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook ช่วงแรกตกอาทิตย์ละหลายพัน ปัจจุบันก็เยอะครับ ค่าโฆษณาเดือนนึง 200,000-300,000 เพราะนอกจากเพจมนทรีฯ ผมยังมีเพจอื่นประมาณ 5-6 เพจ ก็เสียภาษี ให้บัญชีทำรายจ่าย

เรียกว่าโตได้ด้วยการยิง ads ดีกว่า การยิง ads มันเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้าง ลองถึงภาพสมัยก่อนกว่าจะเช่าหน้าร้านที่จตุจักร ล็อกละหลายหมื่นเพื่อเปิดหน้าร้านให้คนเห็นเยอะๆ แต่ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไป คนมาอยู่ในโลก online มากขึ้น เราก็ต้องไปสร้างการมองเห็นในพื้นที่นั้น ผมก็ถามเพื่อนที่เป็นนัก Ads Analyze ว่าเขาตั้งค่ายังไง ปัจจุบันผมก็จ้างเขาเป็นที่ปรึกษาอยู่ ให้เขาดูภาพรวม เขาก็จะคอยอัปเดตให้เราตลอด

Facebook พอเปิดเพจนานๆ เหมือนเราจะถูกลดการแสดงผล การมองเห็นมันจะต่ำลง เรายิง ads ไปที่กลุ่มเป้าหมายเดิม ค่าโฆษณาจะสูงขึ้น เพราะว่ามันหาคนที่จะไปแสดงผลยากขึ้น เหมือนมันใช้โควตาคนนั้นไปแล้ว เราเลยต้องเปิดเพจใหม่ หลังๆ ผมเห็นหลายสินค้า พยายามเปิดเพจใหม่เรื่อยๆ เพื่อสร้างการมองเห็นใหม่ๆ และหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ มากขึ้น ค่า ads ถูกลงด้วย”

แม้การจ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่โฆษณาบน social media จะเป็นทางลัดที่ช่วยให้ผู้ซื้อมองเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และนำไปสู่การสั่งซื้อที่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ต้องอย่าลืมว่า “คุณภาพของสินค้า” คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ

“อย่าไปเน้นว่าฉันอยากเพิ่มยอดขายต้องอัดเงินไปเยอะๆ ไม่ใช่ ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้มันดี ถ้าสินค้ามันดีเราไม่ต้องเหนื่อยทำการตลาดมาก มันจะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

หลังๆ ผมเน้นไปทำการตลาดใน Lazada มันมีบางตัวที่ผมขายแล้วติดอันดับ Top Hit 1 2 3 พอมันติดลมบน มันสามารถขายตัวมันเองได้เลย ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อการแสดงผล พอสินค้าเราติดอันดับ มีการรีวิว มียอดซื้อมากๆ การแสดงผลของสินค้าเรามันจะอยู่อันดับต้นๆ มันจะเกิดการซื้อซ้ำ

อยากให้เตรียมตัวให้พร้อม เพราะบางทีโอกาสมันจะเข้ามาหาเรา พยายามมองให้ต่างจากคนอื่น มันจะสามารถต่อยอดไปยังไงได้บ้าง มันไม่มีธุรกิจอะไรที่ลงทุนวันแรกแล้วจะได้คืนมา มันต้องระยะเวลา 2-3 ปี จริงๆ อยากฝากไว้ว่า ทำธุรกิจเราต้องมีมากกว่า 1 ตะกร้า เพราะถ้าเราทำอะไรอย่างเดียว ถ้าสมมติธุรกิจมันแย่ไป มันจะได้มีตัวอื่นมาพยุง”

นอกจากการยอมเสียค่ายิง ads นักธุรกิจหนุ่มวัย 29 ผู้นี้ ก็ยังมีการจ้างพนักงานอีกนับ 10 ชีวิต เพื่อรับยอดสั่งซื้อลูกค้าทาง online ถือได้ว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยในแต่ละเดือน ที่ทุ่มไปกับระบบหลังบ้าน แต่เขายอมรับว่าคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป

“การยอมลงทุนจ้างแอดมินหลายๆ คนเพื่อให้ monitor ข้อความก็สำคัญ ลูกค้าใจร้อนอยากได้เลย พร้อมโอน แม้กระทั่งพยายามหาเทคโนโลยีมา support ผมเห็นหลายเจ้าเขาก็ใช้ chat bot หรือการ broadcast ข้อความคุยกับลูกค้าเก่าๆ ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเสียตังค์เพื่อยิง ads

การ broadcast ข้อความ เราดึงลูกค้าเก่าๆ ที่เคยซื้อมาซื้อซ้ำ มีประวัติการสั่งซื้อ ก็ช่วยให้ปิดการขายได้มากขึ้นหรือการนำ chat bot มาช่วยตอบ บางคนทักมาไม่มีแอดมินตอบ รอเป็นชั่วโมงก็ไม่อยากได้แล้ว ไปซื้อเจ้าอื่นที่พร้อมดีกว่า

มันไม่ได้แค่เรื่องของกำไร มันเป็นเรื่องความรู้สึกลูกค้าด้วย ถ้าเรายิ่งตอบเร็วมากเท่าไหร่ มันจะเกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ เขามีโอกาสที่จะมาซื้อเราซ้ำอีก การใช้ภาษาที่สุภาพ เข้าใจง่าย ให้เกียรติเขา มันสำคัญ เราต้องคอยดูแล คอยเคลมสินค้า ถ้าถึงลูกค้าแล้วเขาไม่ happy ไม่โอเค เขาก็ไม่มาซื้อเราอีก”

อยากขายดีต้อง “คิดแทนลูกค้า”

สำหรับสินค้าหลักๆ ของเกษตรกรหนุ่มผู้นี้ จะเน้นไปที่กล้าพันธุ์ไม้ต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายช่องทางให้กับผู้ที่สนใจได้เลือกซื้อ ทั้งหน้าร้านที่ จ.ราชบุรี และช่องทาง online แทบทุกแพลตฟอร์ม

“เราจับกลุ่มเป้าหมายกว้าง มีหลายอย่างครับ มีลูกค้าที่ซื้อไปปลูกเอง บางคนก็ซื้อไปขาย เราก็ให้ราคาพิเศษ ส่วนใหญ่จะ online เยอะกว่า อยู่เชียงใหม่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ก็คุยกับเราได้ทั่วประเทศ แต่ on ground หน้าร้านจะใช้เป็นที่บ้านครับ อยู่ใกล้ๆ มาจากกรุงเทพฯ นครปฐม ลูกค้าที่มาไกลๆ จากภูเก็ต มาราชบุรีโดยตรง เราก็เกรงใจ ก็ต้อนรับขับสู้อย่างดี

อย่างต้นไม้จะมีตลาดใน Google ชื่อ NanaGarden ใครมีสินค้าต้นไม้ก็ไปลงขายก็ได้ ใส่ข้อมูล ใส่เบอร์โทร.ให้ครบ ก็จะมีคนติดต่อมา ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ยิ่งเราสร้างระบบได้มากแค่ไหน เรา upload สินค้าได้มากแค่ไหน เดี๋ยวลูกค้าจะเข้าหาเราเอง

ยิ่งสร้างฐานข้อมูล big data ที่เป็น product ของเราหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Lazada หรือ Shopee สร้างไปเลย เดี๋ยวคนที่เขาสนใจเขาค้นหาข้อมูลแล้วจะเจอ แต่หลักๆ เราจะเป็น Facebook เพราะผมรู้สึกว่าประสบการณ์การซื้อ-ขาย ลูกค้าจะมีความคุ้นชินใน Facebook มากกว่า”

และกว่าที่ธุรกิจออนไลน์ของเขาจะลงตัวได้เช่นนี้ ต้องผ่านการคิดและทดลองหลากหลายวิธี ทั้งการลองโยนพัสดุ หรือการทดลองเป็นลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงความต้องการ

“คนที่เป็นเจ้าของควรจะลงมือทำด้วยตัวเอง เราจะรู้ detail ว่าถ้าเราทำแบบนี้เราจะได้ผลที่ดีกว่า ช่วงแรกมีปัญหาเรื่องการแพคของ แพคยังไงไม่ให้เสียหาย ต้องคิดเผื่อ จำลองเวลาแพคเสร็จก็ต้องโยน ยกสูงๆ ทุ่มไปแล้วเอามาเปิดดูว่าข้างในมันเป็นยังไง มันก็มีหักบ้างอะไรบ้าง ต้องค้นคิดวิธี อาจจะต้องเอาเชือกผูกล็อกไว้ ก็ลองมาเยอะ

และไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร ใส่รายละเอียดราคาให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ให้ลูกค้าเคลียร์ คือลูกค้าดูภาพเสร็จ อ่าน caption ขอเลขบัญชี พร้อมโอนเงิน ถ้าเราทำได้ถึงจุดนั้นมันจะช่วยให้เราปิดการขายได้ง่ายขึ้น และช่วยเพิ่มยอดขาย

ถ้าเราทำเป็น album มันจะถูกจำกัดด้วยภาพหลายภาพ แต่ถ้าเราทำเป็น pic post สี่เหลี่ยม เอาภาพไปอัดไว้แน่นๆ มันจะไปแสดงผลใน marketplace หรือในจุดอื่นๆ ได้อีกมากมาย ดูภาพแล้วควรจะจบ ราคาเท่าไหร่ ส่งยังไง ได้กี่ต้น ได้กี่โล ได้กี่ชิ้น ใน caption มี emoji มั้ย ต้องมีพาดหัวที่หยุดนิ้วให้ได้ใน 3 วิ ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม

อย่ามัวรอให้เขามาถามว่า ชิ้นละเท่าไหร่ ค่าส่งเท่าไหร่ มันเสียเวลา กว่าเราจะมาตอบก็ช้า ที่ผมทำอยู่ ยางนาชุด 30 ต้น รวมส่งแล้ว 290 บาท คือ ตอบไปแล้ว 290 บาท คุณได้ต้นไม้ 30 ต้น เก็บปลายทางได้ด้วย คิดแทนลูกค้าไปเลย”

แน่นอนว่า สินค้าออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ย่อมมาคู่กับการขนส่งเสมอ ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปอย่างราบรื่น

“ขายของออนไลน์ก็ต้องมองหาขนส่งที่ดี ต้องมีขนส่งมากกว่า 1 เจ้า เพราะว่าบางเจ้าเกิดวิกฤตของล้นคลัง หรือพนักงานมีปัญหา เราก็ยังมีตัวสำรอง ผมลองส่งกับขนส่งหลายเจ้า ทั้งสีส้ม ไปรษณีย์ไทย สีแดง สีเหลือง ก็มีบ้าง ลองหาขนส่งที่เหมาะกับเราที่สุด ลองเปลี่ยนใช้ดูเรื่อยๆ แล้วจะรู้ว่าเจ้าไหนเหมาะกับเรามากที่สุด

ถ้าพวกของเร็วผมส่งกับสีส้ม ถ้าใครมียอดส่งเยอะๆ ลองติดต่อเขาดู เขาจะมีราคาพิเศษให้ลูกค้าประจำ แต่ถ้าใครส่งของเบา แนะนำส่งกับค่ายสีเหลืองครับ ราคาถูกแล้วก็รวดเร็วอยู่เหมือนกัน ใครส่งของหนัก ก็ให้เน้นกับค่ายสีส้มก็ได้ หรือสีแดงก็ได้

เขียนบอกว่า พัสดุเป็นต้นไม้ ระวังแตก อย่าโยน บางทีเขาเห็นว่าเป็นต้นไม้เขาก็ช่วยเซฟให้เราหน่อย ก็ช่วยได้ครับ โควิดกระทบมั้ย ก็มีบ้าง ส่งไปแล้วตีกลับ ค้างนานหลายวันที่ศูนย์คัดแยก แต่หลักๆ ธุรกิจที่อยู่ได้ก็พวกขายของออนไลน์ การได้ partner ที่ดี ก็สำคัญในการทำธุรกิจผมว่า เขาจะช่วย support เราได้เยอะ”

นอกจากนี้ เขายังมีคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่สนใจอยากหารายได้เสริมจากการทำธุรกิจ online ให้ลองหาสินค้าที่มีระบบ downline เพราะสินค้าลักษณะนี้แทบไม่ต้องมีเงินลงทุนก็สามารถทำการค้าขายได้

“เงินลงทุนสำหรับคนที่เริ่มต้น อาจจะลงทุนซัก 5,000 ไปซื้อต้นไม้ที่เราชอบและสนใจ และคิดว่าจะต่อยอดทางการตลาดได้ ลองซื้อมา 20 ต้น แล้วก็ถ่ายรูป ทำราคาให้เรียบร้อย แล้วโพสต์ลงใน Facebook หรือสร้างเพจขึ้นมา เรื่องบัญชีต้องแยกให้ชัดเจน ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนไหน

ถ้าไม่รู้จะทำยังไง เข้า Google หรือเข้า Youtube ก็ได้ หาวิธีขายของออนไลน์ทำยังไง เดี๋ยวนี้มีกูรู ผู้เชี่ยวชาญเขาสอนไว้เต็ม ถ้าเราตั้งใจศึกษาจริงๆ ผมว่ามันไม่ยาก คนอื่นทำได้เราก็ทำได้

แต่ปัจจุบันขายของออนไลน์แทบจะจับเสือมือเปล่า ไม่ใช่แค่ต้นไม้อย่างเดียวนะครับ ทุกอย่างเลย มันมีระบบ downline หรือเอาระบบขายตรงมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีสินค้า คุณแค่ขอรูปภาพสินค้าจากร้านค้า แล้วไปทำการตลาดเองใน Marketplace ใน Facebook แก้ไขเป็นราคา เป็น caption ของคุณ เดี๋ยวมันจะมียอดขายเข้ามาเอง

แต่ว่าใน Lazada ช่วงแรกอาจจะต้องให้คนใกล้ตัวมาช่วยสั่งซื้อแล้วรีวิวให้ เปิดการมองเห็นและสร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้า พอมันติดหลักร้อยหรือหลักพันต่อเดือน เดี๋ยวยอดขายจะมาเอง มันจะแสดงผลอันดับแรกๆ สังเกตง่ายๆ ถ้าเราเห็นอันไหนคนสั่งซื้อเยอะ มีรีวิว เราก็จะกดซื้อ ทั้งๆ ที่บางเจ้าอาจจะถูกกว่า คนจะเชื่อรีวิวกับยอดสั่งซื้อมากกว่า”

ปลูกความหวัง ทำเงินจากพื้นดิน

ด้วยความที่ อรรถ เป็นทั้งนักขายและคนรักต้นไม้ จึงทำให้การทำงานในแต่ละวันของเขาดำเนินไปได้อย่างมีความสุขที่ได้เห็นผลผลิตเติบโต

“เราเคยขายของออนไลน์มาก่อน ขายเลโก้เป็นของเล่น ตัวต่อ ผมมีพื้นฐานด้านการขายอยู่แล้ว เราสนุกกับมัน แล้วรู้สึกว่าการขายมันเป็นจิตวิญญาณแล้ว เกิดมาเพื่อขายอะไรซักอย่าง

สมัยผมขายของเล่นก็มีความสุขกับมันแป๊บเดียว แต่พอมาทำต้นไม้ ผมรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่มีประโยชน์กับโลก ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่ม Oxygen ตัดมาขายได้ เพิ่มมูลค่าของที่ดิน คนที่ปลูกก็มีความหวัง การที่เราเฝ้าดูต้นไม้ต้นนึงเติบโตมันมีความสุข อยู่ที่การเอาใจใส่ ต้นไม้มันเหมือนคน ต้องอาศัยการดูแลรดน้ำ ต้องการแสงแดด ใส่ปุ๋ย ดูแลดีก็เจริญเติบโตได้ดี ไม่เกี่ยวกับว่ามือร้อนมือเย็น”

สำหรับสินค้าหลักอย่างกล้าไม้กว่า 50 ชนิด จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามกระแสความนิยม แต่จะมีกล้าไม้อยู่ 5 ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นสินค้าขายดีประจำร้าน ประกอบไปด้วย สักทอง, พะยูง, ยางนา, มะฮอกกานี และ ประดู่ป่า

“ที่มีประมาณ 10 ไร่ได้ครับ ก็ปลูกต้นไม้แซมไป ตอนหลังก็ปรับปรุงเป็นที่เพาะกล้าไม้ ที่พักฟื้น ต้องทำด้วยตัวเองก่อน บางทีเราสั่งเมล็ดพันธุ์มาเราก็ต้องทำเองให้รู้ก่อนถึงจะไปสอนน้องในร้านได้ ถ้าหัวหน้าไม่รู้ก็บอกเขาไม่ได้ เราก็ศึกษาเพิ่มเติม อ่านหนังสือ ดูใน Google ถามจากผู้รู้บ้าง บางอย่างมันก็ไม่มีข้อมูลในระบบ ต้องถามคนที่เคยทำ

(สินค้าขายดี) ของผมที่เป็นต้นไม้ป่า ต้นสักทอง ต้นพะยูง ต้นยางนา มะฮอกกานีที่ทำกีตาร์ แล้วก็ประดู่ป่าทำเฟอร์นิเจอร์ มีการอัปเดตเรื่อยๆ ครับ ไม้ด่างยังไปได้ไกล พวกตระกูลไม้ใบ Monstera ไทรใบสัก ผมว่ายังไปได้อยู่ ล่าสุดลูกค้ามาถามหาต้นกระท่อมด่าง กระท่อมเฉยๆ ก็ไม่ขายแล้ว อย่างเมื่อก่อนต้นกัญชา เราไม่ยุ่ง เรามาสายขาวแล้ว ไม่เอาดีกว่า

หลังๆ ผมไปหา ต้นทำมัง กลิ่นมันเหมือนแมงดาแต่มันเป็นไม้ใบ ผมไปเห็นโพสต์นึงเขาขายดีมาก สินค้าแปลกๆ ที่ไม่คิดว่าจะมีขายในโลก online ลองนึกภาพคนเอาหัวปลี เอาเผือก เอาหอยดอง เอาไม้ไผ่ที่เวลาปลูกกุหลาบปักไว้ไม่ให้ล้ม เขาขายดีมาก ใครที่อยากขายของดี ต้องมองหาอะไรที่ยังไม่ถูก upload มาขายบนโลก online ถ้าเราจับตัวนั้นขึ้นมาได้ เราจะเป็นผู้ชนะในตลาด

เราต้องวิเคราะห์จุดแข็งตัวเองก่อนว่าเรามีความได้เปรียบส่วนไหน อย่างผมมีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ ราชบุรีเป็นจังหวัดที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชผักที่ส่งเข้าไปในตลาดใหญ่ๆ อย่าง ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ผมอยู่ใกล้กับอัมพวา แหล่งมะพร้าวน้ำหอมที่ดี อยู่ใกล้กับส้มโอขาวใหญ่ อยู่ใกล้กับกาญจนบุรี ที่เป็นแหล่งเพาะกล้าไม้ ก็เอาสิ่งพวกนี้มาต่อยอดทำประโยชน์”

และแม้สินค้าที่มีอยู่ในมือขณะนี้จะติดอันดับขายดีหลายอย่าง แต่ในฐานะคนทำธุรกิจก็นิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องคอยมองหาอะไรใหม่ๆ มาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ

“มีความเสี่ยง อาจจะมีความล้มเหลว ไม่เป็นอย่างที่เราหวังก็ได้ ต้องเผื่อใจไว้ ลงทุนเจ๊งก็มีหลายอย่าง เช่น เม็ดมะริด ค่าเม็ด 70,000-80,000 ลองซื้อเม็ดมามันก็ไม่งอก เน่ายกลัง ต้นหลุมพอ ลงทุนไป 3,000 เพาะเม็ดก็ไม่ขึ้น ต้นมะเกลือ ต้นอินจันทร์เคยเพาะก็ไม่ขึ้น มีศัตรูพืช หอยทากตัวเล็กๆ มากิน ต้องค่อยๆ บางอย่างไม่มั่นใจต้องค่อยๆ ทำตูมไปอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์แบบที่คาดหวังก็ได้

ช่วงที่ผ่านมา ฟ้าทะลายโจรก็เหมือนกัน ผมก็ผลิตเลย ทำเลย ขายได้แน่นอน สุดท้ายก็เงียบครับ โตออกดอก ต้นไม้ยังอยู่ที่เดิม ขายไม่ได้ ช่วงหน้าแล้งต้นไม้ขายไม่ดี ไม่มีใครปลูกตอนแดดเปรี้ยงๆ อาจจะมีส้มโอมาช่วย มีผลไม้ มีกล่อง หรือบางทีเราก็ต้องฟักตัว

ช่วงที่มันยอดตกหรือขายไม่ดี ไม่ถึง 10 ออเดอร์ต่อวันก็มี ลองหันกลับมาดูลูกน้อง 10 กว่าคนรอแพ็กของ ลำพังค่าใช้จ่ายของพนักงานวันนึงก็เป็นหมื่นแล้ว เราก็ต้องทำใจยอมรับ เราต้องพักฟื้น เตรียมลงทุนเพื่อรอผลผลิตในฤดูกาลใหม่ เพราะว่าสินค้าทุกตัวมีช่วงพีกๆ ขายดี แล้วมีช่วงขาลง

เพราะฉะนั้นการหาสินค้าใหม่ๆ อะไรที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ต้องพัฒนาอยู่เรื่อยๆ อย่าหยุดกับความสำเร็จเดิมๆ ของเราว่าฉันมีตัวนี้ ฉันขายได้อยู่ ต้องหา product ใหม่ๆ ตลอด ไม่งั้นเราจะไม่ทันคู่แข่ง เขาไปถึงไหนแล้ว”

หันหลังให้เมืองหลวง สร้างงานให้บ้านเกิด

ทั้งนี้ ผู้สัมภาษณ์ได้ให้เกษตรกรหนุ่มวัย 29 ปีผู้นี้ ช่วยสะท้อนถึงการที่ผู้คนพากันเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อหางานทำ เขาให้ความเห็นว่า การเลือกที่หันหลังให้เมืองหลวงกลับบ้านเกิด แม้จะไม่สะดวกสบายเท่าแต่ได้รับความสบายใจกลับมาแทน และที่สำคัญยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ด้วย

“ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แค่เรารอดคนเดียว เราย้ายที่ทำงานจากกรุงเทพฯมาต่างจังหวัด เราช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน บางคนอาจจะเรียนออนไลน์ แล้วผมไม่ได้จ้างตามวุฒิ ผมจ้างตามความสามารถ

เรื่องค่าตอบแทนผมจ้างวันละประมาณ 400-500 บาท บางคนก็มากกว่านั้น อยู่ที่ความรับผิดชอบของเขา น้อง admin มีอยู่ในกรุงเทพฯและที่อยู่ในราชบุรีประมาณ 7-8 คน คอยรับ order คุยกับลูกค้า ถ้างานแพ็กของหน้าร้านจะเป็นญาติๆ คนใกล้ชิด คนแถวบ้าน ก็ดึงมาให้มีรายได้ ข้างบ้านก็วางต้นไม้เต็ม ให้ป้าช่วยดูแลรดน้ำ พอเราขายได้ก็แบ่งปันค่าดูแล ค่าผลผลิต

อยากให้คิดย้อนกลับ ถ้าเราทำอะไรเหมือนกับคนอื่นมันก็จะเหมือนกับเขา แต่มันก็จะไปแออัดในกรุงเทพฯ ยิ่งเรารายได้สูง ค่าใช้จ่ายมันก็สูง ค่าภาษีสังคม ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ ถ้าอยู่คอนโดด้วยก็ไปกันใหญ่ ถ้าเรามาอยู่ต่างจังหวัดบางทีมันเซฟอะไรหลายๆ อย่าง มาอยู่กับบ้านมันสบายใจ เหมือนทุกวันที่เราทำงานเป็นวันพักผ่อน อยากให้คนรู้สึกอย่างนั้น บางทีทำงานจนลืมวัน”

และสำหรับเพจ “มนทรีสวนป่า” ไม่เพียงเป็นพื้นที่สำหรับค้าขายเท่านั้น หากแต่ยังให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องของการเกษตรและการทำธุรกิจอีกด้วย

“มีครับ มีทั้งปลูกยังไง จะทำการตลาดยังไง หรือบางคนอยากจับเสือมือเปล่าก็มี เขาถามว่าจะมาสมัครเป็น downline ได้มั้ย จะมาช่วยขาย อย่างปีที่แล้วตั้งทีมมะพร้าวน้ำหอมขึ้นมา เขาทำงานประจำที่กรุงเทพฯ แล้วเขาก็เอาภาพมะพร้าวไปโพสต์ เขาสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้ ทำงานประจำและมีรายได้เสริมจากการขายของ online พอเขาได้ order มาก็ส่งให้ผม ผมก็แพ็กให้ สิ้นอาทิตย์ก็โอนตังค์ค่าส่วนต่างให้เขา ก็ขายดีมาก ได้ค่า commission อาทิตย์ละเป็นหมื่น

ผมมองว่า life circle ของธุรกิจออนไลน์มันกว้างกว่านี้ มันยังเติบโตได้อีก มันเพิ่งมาได้ไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ และปัจจุบันมันเป็น new normal ใหม่ มันไม่ใช่เป็นแค่กระแสในช่วงโควิด แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่สั่งผลไม้ออนไลน์มากินที่บ้าน หรือสั่งอาหาร มันเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปแล้ว ถ้าใครอยากอยู่รอดก็ต้องปรับตัว ใครที่เคยขายเฉพาะ on ground หรือหน้าร้านก็ต้องปรับตัว

มีหลายๆ แบรนด์เขาไม่ปรับตัว ขายแต่หน้าร้านก็อยู่ไม่ได้ แต่บางแบรนด์ที่ปรับตัว เข้าตลาดออนไลน์ ก็ดูขายได้ดี แล้วบางทีการทำตลาดมันช่วยไปเพิ่มลูกค้าหน้าร้านด้วย เพราะบางคน ร้านอยู่ที่ไหน ฉันอยาก walk-in ไปดูของจริง มันช่วย support กัน”

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย เกษตรกรคนเก่งยอมรับว่าเหนือความคาดหมายที่มาถึงจุดที่ขายได้หลักล้านต่อเดือน ในส่วนของธุรกิจในอนาคต เขายังไม่อยากตั้งเป้าหมายไว้ไกลเกินตัวมากนัก เพราะการที่ได้ทำงานกับบ้านและช่วยให้คนรอบข้างมีรายได้ ก็เป็นความสุขให้กับเขาอย่างมากแล้ว

“มันมีแนวคิดอันนึงที่ผมเคยได้ยิน เขาบอกว่า คิดแบบ startup คิดและทำอะไรใหม่ๆ แล้วก็ทำแบบบริษัทมหาชน ให้มองไกลแบบบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พยายามดึงเอาข้อดีของหลายๆ อย่างมาประกอบกัน มันช่วยให้เราอยู่รอดไปได้ จริงๆ ยอดขายหลักแสนต่อเดือนก็เยอะแล้ว หลักล้านมันก็อัปสเกลขึ้นมาเยอะพอสมควร เกินคาด แต่เราต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์

เราไม่ได้ตัวคนเดียว เรามีทีมงาน ช่วยให้เด็กๆ มีงานทำ มีรายได้ ญาติพี่น้องเรามีงานทำ ไม่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ก็มีรายได้ดูแลครอบครัว ไม่ต้องเดินทางไกล ทำงานอยู่กับบ้าน ก็ไม่อยากตั้งเป้าให้สูง แค่ทำแล้วมีความสุข ถึงกำไรจะไม่มากแต่เราก็พออยู่ได้ครับ”

 

#เริ่มขายต้นไม้ออนไลน์
#เพจขายต้นไม้
#ขายต้นไม้ออนไลน์ยังไงให้ปัง
#แอ พ ขายต้นไม้ออนไลน์
#ขายต้นไม้ ออนไลน์ ภาษี
#ขายต้นไม้ ส่งถึงบ้าน
#ขายต้นไม้ ออนไลน์ จตุจักร
#ธุรกิจขายต้นไม้ใหญ่

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “มนทรีสวนป่า”

เครดิต https:// m.mgronline.com/live/detail/9640000089953

 
Posted : 11/09/2021 10:44 am
Topic Tags
Share: