จีนพบหลุมบูชายัญ 3,000 ปี ตะลึงโบราณวัตถุอื้อ หน้ากากทองคำก็มี

News

จีนพบหลุมบูชายัญ 3,000 ปี – 20 มี.ค. สำนักข่าว​ ซินหัว รายงาน การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่หลุมบูชายัญในเสฉวน บรรจุวัตถุโบราณกว่า 3,000 ปีจำนวนมาก ช่วยอธิบายต้นกำเนิดของอารยธรรมจีน

สำนักบริหารมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ (NCHA) แถลงว่าคณะนักโบราณคดีค้นพบหลุมบูชายัญใหม่ 6 หลุม และขุดพบวัตถุมากกว่า 500 รายการ ซึ่งมีความเก่าแก่ราว 3,000 ปี ที่ซากโบราณซานซิงตุย (Sanxingdui Ruins) มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ปัจจุบันคณะนักโบราณคดีขุดพบวัตถุวัฒนธรรมสำคัญมากมายจากหลุมบูชายัญ 4 หลุม อาทิ ชิ้นส่วนหน้ากากทองคำ แผ่นทองคำเปลว หน้ากากสัมฤทธิ์ ต้นไม้สัมฤทธิ์ งาช้าง รวมถึงชิ้นส่วนงาช้างแกะสลักขนาดเล็ก เมล็ดข้าวที่กลายเป็นถ่าน และเมล็ดพันธุ์ต้นไม้

“นับเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ เราขุดพบเครื่องสัมฤทธิ์บางส่วนที่ไม่เคยพบมาก่อน” เหล่ยอวี้ เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยวัตถุวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลซื่อชวนกล่าว

“ตัวอย่างเช่น เครื่องสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่และประณีตที่มีลวดลายมังกร หรือวัวรูปลักษณ์แปลกประหลาด”

ถังเฟย หัวหน้าทีมขุดสำรวจและผู้อำนวยการสถาบันฯ ระบุว่ามีการขุดพบกากใยไหมและสิ่งทอในซากโบราณซานซิงตุยเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งบ่งชี้ “อาณาจักรสู่ (SHU) ในอดีตกาลเป็นหนึ่งในต้นกำเนิด ‘ไหม’ แห่งสำคัญในยุคจีนโบราณ”

หลุมบูชายัญกลุ่มใหม่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาดระหว่าง 3.5-19 ตารางเมตร ตั้งอยู่ถัดจากหลุมบูชายัญ 2 หลุม ที่ค้นพบเมื่อปี 1986 (พ.ศ.2529) โดยหลุมบูชายัญทั้งหมดถือเป็นสถานที่ที่ผู้คนในอารยธรรมสู่ใช้บวงสรวงสวรรค์ โลก และบรรพบุรุษ รวมถึงขอความร่ำรวยและความสงบสุข

สำนักบริหารมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติระบุว่าปฏิบัตการขุดสำรวจรอบล่าสุดมีสถาบันต่างๆ เข้าร่วมมากกว่า 30 แห่ง และมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดการบูรณาการการขุดสำรวจและการอนุรักษ์เข้าด้วยกัน

ซากโบราณซานซิงตุยเป็นหนึ่งในสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งถูกค้นพบโดยเกษตรกรที่กำลังขุดดินในช่วงทศวรรษ 1920 มีขนาด 12 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเมืองก่วงฮั่น เชื่อกันว่าเป็นซากอาณาจักรสู่ที่มีความเก่าแก่ราว 4,800 ปี

ย้อนกลับเมื่อปี 1986 มีการขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมากในหลุมหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ซึ่งดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก โดยปัจจุบันนักโบราณคดีขุดพบโบราณวัตถุจากซากโบราณซานซิงตุยมากกว่า 50,000 รายการแล้ว

ทางการจีนจัดให้ซากโบราณซานซิงตุยอยู่ภายใต้การคุ้มครองระดับรัฐในปี 1988 (พ.ศ.2541)

“เราจำเป็นต้องกอบกู้โบราณวัตถุทั้งหมดอย่างระมัดระวังขั้นสุด” เจียงลู่ม่าน เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานประจำหลุมหมายเลข 5 กล่าว พร้อมเสริมว่ามีการใช้ถุงมือ มีดผ่าตัดทางการแพทย์ และซีกไม้ไผ่ ในการกอบกู้วัตถุโบราณด้วย

“ชิ้นส่วนงาช้างจำนวนมากที่ค้นพบใหม่อยู่ในสภาพบอบบางมาก เราต้องใช้สารพัดมาตรการเพื่อรักษาความชื้นและอุณหภูมิให้คงที่ โดยตอนนี้เรากอบกู้วัตถุวัฒนธรรมจากหลุมได้มากกว่า 100 รายการแล้ว” เจียงกล่าว

คณะนักวิจัยของจีนเสริมว่าเครื่องสัมฤทธิ์บางส่วนที่ขุดพบในซากโบราณซานซิงตุย สามารถพบได้ในเขตที่ราบลุ่มตอนกลาง (Central Plains) หรือพื้นที่อื่นๆ ตามแนวแม่น้ำแยงซี ซึ่งถือเป็นหลักฐานบ่งชี้อย่างหนักแน่นว่ามีการแลกเปลี่ยนบ่อยครั้ง

“การค้นพบรอบใหม่นี้จะเสริมสร้างและเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมซานซิงตุยยิ่งขึ้น” ซ่งซินเฉา รองผู้อำนวยการสำนักบริหารมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติกล่าว

คณะนักโบราณคดีกล่าวว่าหน้ากากทองคำ หน้ากากสัมฤทธิ์ และรูปปั้นมนุษย์ที่ค้นพบใหม่ ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวและความคิดสร้างสรรค์ของอารยธรรมสู่

เจย์สวี่ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งซานฟรานซิสโก กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าศิลปะเครื่องสัมฤทธิ์ที่มีพัฒนาการสูงของซานซิงตุย “ฉายความโดดเด่นในหมู่อารยธรรมระดับภูมิภาคของจีน รวมถึงอารยธรรมโบราณอื่นๆ ซึ่งจะเป็นที่สนใจจากทั่วโลกอย่างมาก”

https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6171666