โลกฟุตบอลใน ค.ศ.นี้ จำเป็นต้องหยุดหมุนอีกครั้ง
การโคจรมาปะทะกันระหว่าง “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล กับ“เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถือว่าเหมาะเจาะลงตัวทั้งจังหวะโอกาสและเวลา กับทางโค้งสุดท้ายมุ่งสู่การลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก
ทั้งที่เป้าหมายในซีซั่นนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ลิเวอร์พูล ก่อนเตะมีแต้มนำ ซิตี้ 1 คะแนน เริ่มต้นซีซั่นด้วยการคาดหวังในการพัฒนาทีมเป็น “เวอร์ชั่น 2.0” แต่กลับยิ่งเล่นยิ่งมีอะไรแปลกและแตกต่าง พิสดารไปเรื่อยๆ จนนำจ่าฝูงจนถึงโปรแกรมแมทช์เดย์นี้ พร้อมกับอยู่ในเส้นทางการ “กวาดทุกแชมป์” ทั้ง 4 รายการ หลังจากตระกองกอดถ้วยลีกคัพมาแล้ว 1 ใบ
แมนฯซิตี้ ตามหลัง ลิเวอร์พูล 1 คะแนน อิ่มเอมความสำเร็จกับการเป็น “เทรเบิ้ลแชมป์” มีภารกิจและพันธกิจที่น่าสนใจก็คือ หากพวกเขาป้องกันแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ จะเป็นทีมแรกที่ครองแชมป์ลีกผู้ดี 4 ปีซ้อน ขณะเดียวกัน หากเป็น 3 แชมป์ได้อีก จะเป็นยิ่งกว่าประวัติศาสตร์เดิมที่ขีดเขียนเอาไว้
น่าสนใจว่า สองทีมนี้วนเวียนกับการเหมาแชมป์อยู่หลายซีซั่น มาถึงซีซั่นนี้ กลายเป็นประเด็น “4 แชมป์” ของ ลิเวอร์พูล กับ “3 แชมป์” ของ ซิตี้ วนไปมาเป็นมวยยกห้า
แต่นั่นมันไม่ได้ง่ายอยู่แล้ว
ที่สำคัญก็คือ “2 ใน 3” รายการที่ลุ้นล่ากันอยู่นั้น ต้องฟาดฟันกันเอง หนึ่งในนั้นคือ พรีเมียร์ลีก ที่จะต้องเจอกันเป็นคำรบ 2 ในซีซั่นนี้ หลังจากเกมแรกที่ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ เสมอกัน 1-1
ว่ากันว่า นี่คือ “เกมสุดท้าย” ที่ เจอร์เก้น คล็อปป์ จะดวลฝีมือกับ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ในการแข่งขัน “ฟุตบอลลีก” ณแผ่นดินอังกฤษ โดยโอกาสความเป็นไปได้ยังมีอีก 1 รายการนั่นคือเอฟเอ คัพ ที่ยังได้ไปต่อตามเส้นทาง
A Respectful Rivalry คือการปะทะกันของคู่นี้ คล็อปป์ vs เป๊ป และ ลิเวอร์พูล vs แมนฯซิตี้ เข้าตำราเดียวกันละครับ
ดูบอลหาเพื่อน ไม่ใช่ดูบอลแล้วหาเรื่องไปวัน ๆ ………………….
l ผ่ากลยุทธ์กับศึกครั้งสำคัญ
แผนการเล่นของทั้งสองทีมคือสิ่งที่ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่นัก
แต่พื้นฐาน 4-3-3 ในยุคปัจจุบัน ผมมองว่านี่คือมนุษย์แปลงของทั้ง คล็อปป์ ทั้ง เป๊ป
มาที่ฝั่ง ลิเวอร์พูล กันก่อน……หลังจากหมดยุค “ไอ้หนุ่มรถไถวัยซิ่ง” เปลี่ยนมาเป็น 2.0 ด้วยการใช้ผู้เล่นแดนบนที่มีทักษะ และความสามารถเฉพาะตัวที่มากขึ้น ดังนั้น คล็อปป์ จึงสามารถยืดหยุ่นในแดนกลางได้มาก และเราจะสังเกตว่า มีการเล่น “ดับเบิ้ลไพวอท” เมื่อ วาตารึ เอนโดะ กับ อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์ มากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลในพื้นที่ระหว่างกึ่งกลาง โดยให้ “บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์ ขวา” ปาดขึ้นไปเล่นตัวรุกที่สูงขึ้น แทบจะเป็น “กองหน้าด้านขวา”
นี่คือสิ่งที่ ลิเวอร์พูล ทำตั้งแต่ โม ซาลาห์ ยังไม่ไปเล่นแอฟคอน และยังไม่เจ็บ 2 รอบด้วยซ้ำ
เนื่องจากคนที่เล่น “กองหน้าด้านขวา” มีแค่ ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ ที่เป็นธรรมชาติ แต่ตัวเขาศักยภาพไม่เท่ากับ ดีโอโก้โชต้า ที่เล่นเป็น “หน้าขวาตัวแนบ” แต่เมื่อ โดมินิก โซโบสไลเจ็บไปอีกคน ทำให้ เอลเลียตต์ เป็นคนที่รับหน้าที่ตรงด้านนี้วิ่งทะลวงได้อย่างต่อเนื่อง
ทีนี้เมื่อ โซโบสไล กลับมา คล็อปป์ ต้องเลือกระหว่างความสมดุล กับ ความต่อเนื่องในเกม แต่ที่แน่ๆ ทุกคนจะต้องลงมาเพื่อช่วยเกมรับ
เพราะบอลเกมนี้ ซิตี้ จะเป็นฝ่ายครองเกม
บอลของ เป๊ป ซีซั่นนี้มีความแตกต่างออกไปจากปีก่อนที่ได้สามแชมป์ เนื่องจากปีกสองฝั่งได้บอลแล้วจะไปในพื้นที่แดนบนทันที จะพาไปข้างหน้ามากกว่าหมุนกลับมาแล้วย้อนมาตั้งที่แดนหลัง และที่ชัดเจนคือ มีสองแผนในแนวเดียวกัน
คนที่เปลี่ยนอีกแผนคือ ฆูเลี่ยน อัลบาเรซ ที่จะทะลวงจากการวิ่งทแยง แต่ถ้าเป็นคนอื่น จะพุ่งเข้าตรงๆ ตามหมุดต่างๆ ที่ซ้อมกันมา
แต่บุคคลอันตรายที่หลายคนมองก็คือ เออร์ลิ่ง เบรา ฮาลันด์ กับ เควิน เดอ บรอยน์ แต่สำหรับผมแล้ว คนที่อันตรายสุดๆ และเข้าฟอร์มมากในตอนนี้ที่สุดคือ ฟิล โฟเด้น
โฟเด้น เลือกเก่งมากในตามจุดต่างๆ ว่าเขาจะวิ่งไปตรงไหน, ตอนไหนควรจ่าย และตอนไหนควรยิง
เขาเป็นนักเตะแบบฉบับพิมพ์เขียวแนวเดียวกับ แบร์นาโด้ ซิลวา ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในการเล่นแดนบนมากยิ่งขึ้น เท่ากับว่า นักบอลที่ไปกับบอลได้ดีหากฟิตจริงๆ จะมีถึง 3 คนที่ เป๊ป ใช้มาตลอดก็คือ โฟเด้น, แบร์นาโด้ และ เฌเรมี่ โดกู
โดยมี โรดรี้ ยืนเป็นเข็มทิศในแดนกลาง ซึ่งตัวนี้สำคัญมาก จะคอยตักบอลจากแนว 30-35 หลา ส่วน เดอ บรอยน์ จะอยู่ลึกกว่า และอันตรายมากในระยะ 25 หลาลงไป
ดังนั้น ลิเวอร์พูล จะต้องเล่น ดับเบิ้ล ไพวอท แทบจะทั้งเกม และแกะจุดนี้ออกมาให้ได้ เพราะแนวรุกของ ลิเวอร์พูล ก็จัดจ้านเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน
ซ้ายเป็น หลุยส์ ดิอาซ ที่กลับมาเล่นได้ดีเหมือนกับปี 2022 ที่เขาย้ายมา เพราะจังหวะในการเล่นที่เลี้ยงมาก และตัดสินใจช้าเริ่มลดลง เปลี่ยนเป็นเลือกช็อตที่ดีขึ้นเร็วขึ้น อีกทั้งการวิ่งโอบมาอีกฝั่งอย่างรวดเร็วสร้างมิติให้หลากหลาย
กรณีนี้ถ้าได้ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ กลับมาฟิตเต็มที่ มันจะทำให้ทีมนิ่งขึ้นอีกระดับ และด้วยวิธีเล่น ซาลาห์ จะอยู่ใกล้กรอบเขตโทษมากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เขาไม่ต้องดวลกับ นาธาน อาเก้ ที่มักจะมีวิธีเก็บ ซาลาห์ ได้น่าสนใจอยู่หลายเกม
แต่คนพิเศษสุดๆ คงไม่พ้น ดาร์วิน นูนเญซ
เขาทำประตูได้ก่อน ฮาลันด์ ในการเผชิญหน้ากันครั้งแรกของศึกคอมมิวนิตี้ชิลด์ 2022 แต่จากนั้น ฮาลันด์ ถลุงประตูมากมายเป็นว่าเล่น ผิดกับ นูนเญซ ที่ดูเหมือนทำอะไรก็ผิดไปหมด และถูกล้อเลียนอย่างน่าตกใจ
เพลานี้ นูนเญซ กลับมาร้อนแรงตั้งแต่ปีใหม่ สถิติมีส่วนร่วม 12 ประตูเท่ากับ เดอ บรอยน์ และตรงๆ ก็คือ เล่นบอลแล้วมันปั่นป่วนลำไส้ของฝั่งตรงข้าม ซึ่งวิธีการแบบนี้แหล่ะที่ทำให้ไม่ค่อยมีใครชอบ
แต่มันคือหน้าที่และวิธีของ นูนเญซ ที่จะได้วัดกับ ฮาลันด์ ตรงๆ กันอีกครั้ง
ก็อยู่ที่ว่าใครจะชอบเครื่องเล่นอะไรมากกว่ากัน ระหว่างรถไฟเหาะ หรือ ไวกิ้ง
l จุดสำคัญที่ป้อมปราการ
ว่ากันว่า บอลที่อยู่ระดับท็อป หาจุดอ่อนค่อนข้างยาก ยกเว้นการบ่นพร่ำไปเรื่อยๆ อันนั้นคือเรื่องของแฟนบอล
แต่ว่ากันถึงเทคนิค และแท็กติก สองทีมนี้เหมือนกันคือ หากจะหาจุดอ่อนคงต้องมองไปที่ “เกมรับ” ที่ว่ากันว่า มันไม่เสถียรเท่าไหร่นัก
ไม่มีการนำเปรียบตำแหน่งผู้รักษาประตู เมด อิน บราซิล เนื่องจาก อลิสซอน(บางที่เรียก อลิสสัน บางที่เรียก อลีสซง)บาดเจ็บ ทำให้ เอแดร์ซอน(แล้วทำไมบางที่ไม่อ่าน เอแดร์ซง) ต้องเจอกับ ควีวีน เคลเลเฮอร์
ตามประสบการณ์ ซิตี้ เหนือกว่า แต่ถ้าวัดกันฟอร์มปัจจุบัน อันนี้ไม่ห่างเลย แบบไม่ต้องอธิบายต่อ
อย่างไรก็ตาม “กองหลัง” คือสิ่งที่ ลิเวอร์พูล ต้องแก้ไขมาตลอดทั้งฤดูกาล เมื่อตัวจริงมากถึง 3 คนสลับกันบาดเจ็บ เหลือแค่ เฟอร์จีล ฟาน ไดจ์ค คนเดียวที่สมบูรณ์มาก และนี่คือปราการหลังที่ “ดีที่สุดในโลก” อย่างไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเถียง
คำถามคือเมื่อกลางสัปดาห์ หลายคนบ่นกว่าหลังแกว่งๆ แน่นอนเพราะต้องพัก ฟาน ไดจ์ค บ้าง เพราะถ้าตัวนี้ “เจ็บคือจบ” ด้วยตัวของเขาเองทำให้แนวรับที่สลับกันเดี้ยงทั้ง โฌแอล มาติ๊ป, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน และเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ยังดีที่ ไดจ์ค ยังปักหลักให้ เหมือนคราที่ อลัน แฮนเซ่น คัดท้ายในยุค 80
มีการสลับสับเปลี่ยนมากมาย แต่คุณภาพเชิงลึกแตกต่างกัน นั่นก็คือ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ โชคดีที่ อิบราฮิมา โกนาเต้ ยกระดับขึ้นดีมาก แต่สิ่งที่เขาหนีไม่พ้นคือ เจ็บอยู่เรื่อยๆ และความแข็งแรงไม่ทนทานเมื่อเทียบกับรูปร่างกับอายุ รวมถึงได้ จาเรลล์ ควอนซาร์ ที่เติบโตขึ้นมาเป็น “ฟาน ไดจ์ค มาร์ค ทู” ทั้งเรือนร่าง, ท่าทาง บางทีหน้าตาก็ด้วยซ้ำ หลังจากทีมรอมานานตั้งแต่ เข็น รีส วิลเลี่ยมส์, แนต ฟิลลิปส์ และบิลลี่ คูเมติโอ ขึ้นมา
ปัญหาเกิดอีกเมื่อ โกนาเต้ มาเจ็บเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” ในซีซั่นนี้ที่ทีมออกจากสนามมีนักบอลเจ็บเกือบจะทุกนัด ก็ทำให้เป็นจุดที่หลายคนคิดว่าจะให้ใครเล่นระหว่าง ควอนซาร์ หรือ โจ โกเมซ ที่ปีนี้ “ผีเข้า” เล่นได้ดีกว่ามาตรฐานตัวเอง รวมถึงกลายเป็นนักบอลออลราวด์เล่นได้หลายตำแหน่ง แต่…….
แบ๊กซ้ายก็เช่นกัน ซึ่งตัวเลือกแรกคือ ร็อบโบ้ ตามด้วยตัวเลือกต่อมาคือ คอนสแตนตินอส ซิมิกาส แต่หลายเสียงเรียกร้องว่า โกเมซ ควรจะได้สตาร์ทด้วยซ้ำ ซึ่งอันนี้น่าสนใจเพราะ ร็อบโบ้ ซีซั่นนี้ตกลงไปตั้งแต่ต้นปี ส่วน ซิมิกาส จะดีเมื่อบอลต้องการเกมรุก
เมื่อเราเห็นสไตล์ขึ้นข้างของ ซิตี้ ดังนั้น โกเมซ ด้วยผลงานและสถานการณ์อันนี้ก็น่าจับตามอง
ทีนี้แบ๊กขวาที่ เทรนท์ เล่นไปเล่นมาเจอ “องุ่นเปรี้ยว” เยอะจนน่าตกใจ ก่อนจะหยุดทุกสิ่ง(จากแฟนบอลตัวเอง) ด้วยประตูสำคัญที่เอติฮัด แต่ก็มาโดนถล่มแบบน่าตกใจหลังจากเขาต้องกัดฟันทนกลับมาเล่นเร็วเกินจนเจ็บซ้ำ เพราะ คอนอร์ แบร๊ดลี่ย์ ที่มาแทนแล้ว เล่นได้เกินคาด และทำประตูได้ ก่อนจะเสียคุณพ่อ
สถานการณ์มันดูวุ่นวายไปหมดจริงๆ ในปีนี้
แบร๊ดลี่ย์ กับ เทรนท์ ยังเอามาเปรียบกันไม่ได้ แม้ว่า แบร๊ดลี่ย์ จะดี แต่ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่ เทรนท์ ได้ทำ บวกกับ “วิธีการใหม่” ที่เขาแทบจะเป็น ควอเตอร์แบ๊กให้กับทีม เมื่อ เทรนท์ ไม่ได้เล่น ทีมต้องกลับไปเล่นแบบ “โอลด์สคูล 4-3-3” แบ๊กสองฝั่งกางออก และวิธีการในแนวรุกบอลข้ามไลน์หายไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
ด้านแนวรับของ ซิตี้ มีปัญหาคนละแบบ นั่นคือเมื่อทีมต้องการกลับมาเล่นในระบบ “หลัง 4” แต่ตัวผู้เล่นปัจจุบันคือ ไม่มีแบ๊กซ้าย แต่มีเซ็นเตอร์แบ๊กดีๆ มากมายจนล้นมือ
นาธาน อาเก้ ต้องไปยืนซ้าย หลังจากเสียตำแหน่งให้กับ ยอสโก้กวาร์ดิโอล เพราะคู่เซ็นเตอร์ ไม่มีใครสามารถเบียด รูเบน ดิอาส ซึ่งเป็นตัวหลัก และจอห์น สโตนส์ ที่คู่กันได้อย่างลงตัว
สโตนส์ อาจจะไม่ได้ดีไปกว่า มานูเอล อาคันจี, อาเก้ หรือว่า กวาร์ดิโอล แต่สิ่งที่ สโตนส์ ทำได้ดีกว่าก็คือ การชัดเจนจากเกมก่อนที่ทีมไม่ต้องเสียโควต้าเปลี่ยนตัว เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนแผน
เป๊ป สั่งให้ สโตนส์ ขยับขึ้นไปเล่นกลางอยู่เกือบ 15 นาที ก่อนจะทุบ แมนยูฯ ลงได้ในครึ่งหลัง เป็นการพลิกตำแหน่งจากเดิม 4-1-4-1 ไปเป็น 3-2-4-1 โดยไม่ต้องไปอินเวิร์สท์ การทำงานก็เหมือนกับท้ายฤดูกาลก่อน
ไคล์ วอล์คเกอร์ ขยับบีบเข้าในชิดกับ ดิอาส และอาเก้ ก็ขยับขวาตัวเองเข้าในเพื่อมายืน 3 คน
ปีนี้ เป๊ป ไม่ค่อยเล่นแบบนี้ เนื่องจากเขาต้องการพัฒนานักบอลและแท็กติกให้ต่างไปจาก ครึ่งซีซั่นหลังของปีก่อนที่เปลี่ยนแปลงกลางทางแล้ววิ่งไปสู่ 3 แชมป์อย่างงดงามที่สุด
สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทั้งสองทีมมีระบบที่เชื่อมต่อกันได้ดีมาก ทั้งหลัง, กลาง และหน้า โดยพิสูจน์แล้วว่า เมื่อคุณไม่มีนักบอลคนสำคัญอยู่ในทีม อาทิ ซิตี้ ไม่มี เดอ บรอยน์ ทั้งครึ่งฤดูกาลแรก หรือ ลิเวอร์พูล ที่มีตัวเจ็บมากมายต้องแก้ไขตลอดเวลา
พวกเขาสามารถยืนหยัดอยู่บนหัวตารางและต่ออายุราชการลุ้นแชมป์จนแทบจะถึงบั้นปลาย
l สำคัญที่แผนสอง-ม้าสำรองลงลุย
……ว่ากันตามเชิง คู่นี้ซัดกันตัวต่อตัวแบบมวยเฮฟวี่เวท โดนทีเดียวหมัดเดียวน็อกได้ในทันทีเหมือนกัน
พลังแฝงอยู่ที่ข้างสนาม แม้ว่าจะเปลี่ยนได้ 5 คน แต่สังเกตว่า เป๊ป มักจะไม่ค่อยใช้ตัวสำรอง ผิดกับ คล็อปป์ ในปีนี้ที่เปลี่ยนแผนเปลี่ยนตัวครั้งใด “ไม่ค่อยพลาด”
ที่พลาดจริงๆ ก็คือเกมกับ อาร์เซน่อล ที่กำลังจะขย่มได้ แต่สถานการณ์บีบด้วยให้เปลี่ยน เทรนท์ ออก แล้วบอลยาวหายไปจนมาพลาดกันเองและเหลือ 10 คนจนแพ้สบาย
แต่มันไม่ควรจะเกิดขึ้น และมันไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นอีก
บางทีการที่นักบอลเจ็บมากมาย 8-9 คนแบบนี้ ทำให้ คล็อปป์ ดูเหมือนจะเด็ดเดี่ยว และตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้นในหลากหลายกรณี เพราะการใช้ “เด็กเยาวชน” ลงสนาม นั่นก็เป็นที่รู้กันว่า มันไม่ใช่เป็นแผนสำรอง แผนสอง แผนสามอะไรหรอก
แต่มันเป็นแผนฉุกเฉินมากกว่า ที่ไม่มีผู้จัดการทีมคนไหนต้องการใช้แผนแบบนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ใช้แล้ว ใช้ต่อ ใช้อีก ใช้จนสัมฤทธิผล อาทิในนัดชิงฯคาราบาวคัพ นั่นหมายว่า ความมั่นใจ “เวลาจั่ว” ชั่วโมงนี้ คล็อปป์ ดูปึ๋งปั๋งกว่า เป๊ป อย่างไม่ต้องสงสัย
ผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ตอบแบบนักการเมืองก็คือ ออกได้ทั้ง 3 หน้า และถ้าผลเสมอล่ะ??!??!! ก็น่าพอใจทั้งสองฝ่ายนั่นแหล่ะ
มันคนละทิศกับปี 2021-22 ที่ ลิเวอร์พูล บุกไปเสมอ ซิตี้ 2-2 แล้วแฟนบอลบางกลุ่มดีใจที่ได้เห็นคุณภาพการเล่นที่สูงมาก
ใช่ครับ ดีใจได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็คือ แฟนบอลบางกลุ่มกลุ้มใจ เพราะตามหลังอยู่ 1 คะแนน หลังจากผ่านไป 31 นัด แล้วสุดท้ายจบ 38 นัด ก็แพ้คะแนนเดียวจริงๆ
แต่สถานการณ์ซีซั่นปัจจุบันคือ พลิกกลับฝั่ง
ส่วนใครจะออกทะเลก็ค่อยว่ากันที่หน้างานอีกที…….
บี แหลมสิงห์
บันทึก‘คล็อปป์ vs เป๊ป’ในอังกฤษ
19 มี.ค. 2017 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1-1 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
9 ก.ย. 2017 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 5-0 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
14 ม.ค. 2018 ลิเวอร์พูล 4-3 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (พรีเมียร์ลีก)
4 เม.ย. 2018 ลิเวอร์พูล 3-0 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (แชมเปี้ยนส์ลีก)
10 เม.ย. 2018 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1-2 ลิเวอร์พูล (แชมเปี้ยนส์ลีก)
7 ต.ค. 2018 ลิเวอร์พูล 0-0 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (พรีเมียร์ลีก)
3 ม.ค. 2019 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-1 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
4 ส.ค. 2019 ลิเวอร์พูล 1-1 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (คอมมิวนิตี้ ชิลด์)
10 พ.ย. 2019 ลิเวอร์พูล 3-1 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (พรีเมียร์ลีก)
2 ก.ค. 2020 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 4-0 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
8 พ.ย. 2020 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1-1 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
7 ก.พ. 2021 ลิเวอร์พูล 1-4 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (พรีเมียร์ลีก)
3 ต.ค. 2021 ลิเวอร์พูล 2-2 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (พรีเมียร์ลีก)
10 เม.ย. 2022 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-2 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
16 เม..ย. 2022 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-3 ลิเวอร์พูล (เอฟเอ คัพ)
30 ก.ค. 2022 ลิเวอร์พูล 3-1 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (คอมมิวนิตี้ ชิลด์)
16 ต.ค. 2022 ลิเวอร์พูล 1-0 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (พรีเมียร์ลีก)
22 ธ.ค. 2022 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 3-2 ลิเวอร์พูล (อีเอฟแอล คาราบาว คัพ)
1 เม.ย. 2023 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 4-1 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
25 พ.ย. 2023 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1-1 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)